การดำเนินการทางวินัย กับการลาออกจากราชการ จะทำให้หลุดพ้นจากความผิดหรือไม่
สวัสดีค่ะเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน พบกันเช่นเคย วันนี้จะนำเสนอกรณีที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต่อมาขอลาออกจากราชการแล้วจะมีผลให้หลุดพ้นจากความผิดหรือไม่ โดยมีตัวอย่างข้อเท็จจริงดังนี้
นายแดง ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ถูกผู้ปกครองนักเรียนร้องเรียนกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาวขาวซึ่งเป็นศิษย์ในโรงเรียนที่ตนสอนอยู่ และเรื่องอยู่ระหว่างที่ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยหรือไม่ นายแดงรีบลาออกจากราชการโดยคาดหวังว่าจะทำให้ตนหลุดพ้นจากความผิดได้
กรณีดังกล่าวนี้ตามหลักการดำเนินการทางวินัยผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเสียก่อนว่า กรณีมีมูลอันควรกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยหรือไม่ เมื่อสืบสวนแล้วเห็นว่า กรณีมีมูลอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายแดงได้ ต่อเมื่อนายแดงยังมีสถานภาพเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ กล่าวคือ จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงก่อนที่นายแดงลาออกจากราชการหรือเกษียณอายุราชการ เมื่อหลักการเป็นดังนี้นายแดงจึงคิดว่าตนหลุดพ้นจากความผิดเป็นแน่ แต่กรณีหาได้เป็นไปตามที่นายแดงคิดไม่เพราะกฎหมายมีหลักย่อมต้องมีข้อยกเว้น ซึ่งกรณีนี้มีข้อยกเว้นให้สามารถดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ออกจากราชการไปแล้วได้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กล่าวคือ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่พึงเห็นได้ว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นการกล่าวหาเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการและการกล่าวหาดังกล่าวจะต้องดำเนินการก่อนที่ข้าราชการผู้นั้นพ้นจากราชการ แม้ภายหลังผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้ว เว้นแต่ออกจากราชการเพราะตาย ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 มีอำนาจดำเนินการทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ต่อไปได้เสมือนว่านายแดงยังมิได้ออกจากราชการ
ดังนั้น นายแดงจึงต้องถูกผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป ซึ่งหากผลการสอบสวนในที่สุดพฤติการณ์ของนายแดงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งจะต้องถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งลงโทษนายแดงได้ เว้นแต่กรณีสอบสวนแล้วเป็นความผิดวินัยที่จะต้องลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน กฎหมายกำหนดให้สั่งงดโทษ สรุปแล้วกรณีดังกล่าวการที่นายแดงขอลาออกจากราชการไม่ทำให้นายแดงหลุดพ้นความผิดที่ตนก่อไว้ จึงเป็นอุทาหรณ์ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้ตามกฎหมายโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ จึงจะทำให้ปลอดภัยจากการถูกดำเนินการทางวินัยอย่างแน่แท้ แล้วพบกันใหม่วันจันทร์หน้า
ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
อัพเดทเรื่องราว - ข้อสอบใหม่ ๆ
เข้าห้องสอบออนไลน์ ( ฟรี)
เน็ตช้า ... คลิ๊กที่ http://tuewsob.blogspot.com
ห้องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
... ห้องติวสอบผู้บริหาร + การศึกษาพิเศษ + การศึกษานอกระบบ (กศน.)
ห้อง ... ครูวิชาเอก ห้อง 1 คลิ๊กที่ http://tuewsobkru.blogspot.com
ห้อง ... ครูวิชาเอก ห้อง 2 คลิ๊กที่ http://tuewsob2011.blogspot.com
ฟรี... ห้องติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา-ครู-บุคลากรการศึกษา ที่
" ติวสอบดอทคอม " เขียน-สร้าง-บรรยาย โดย (ผอ.นิกร เพ็งลี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น