เมื่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการอย่างไร
สวัสดีค่ะ พบกันอีกเช่นเคย วันนี้ก็คงจะเสนอเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่เพื่อนครูและผู้บริหารควรรับรู้ รับทราบ โดยจะขอย้ำเตือนเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และเมื่อมีกรณีดังกล่าวผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งก่อนอื่นขอเรียนว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานอกจากจะมีหน้าที่สอน ผู้บริหารซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานอกจากจะมีหน้าที่บริหารสถานศึกษาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้ในหมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ
ในส่วนของผู้บังคับบัญชาจะต้องมีหน้าที่สำคัญอีก 3 ประการ กล่าวคือ (1) มีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้คนอยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย เช่น กระทำการโดยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี การฝึกอบรม การสร้างขวัญและกำลังใจ การจูงใจ หรือการอื่นใดในอันที่จะเสริมสร้างและพัฒนาเจตคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปในทางที่มีวินัย (2) ป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย เช่น ให้กระทำโดยการเอาใจใส่สังเกตการณ์และขจัดเหตุที่อาจก่อให้เกิดการกระทำผิดวินัย ในวิสัยที่จะดำเนินการป้องกันตามควรแก่กรณีได้ และ (3) ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยทันที
เมื่อมีการกล่าวหาว่า ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาชอบที่จะต้องรีบดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ อาจทำโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยก็ให้ดำเนินการทางวินัยทันที โดยปกติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ซึ่งผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือมีพฤติกรรมปกป้องช่วยเหลือเพื่อมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาถูกลงโทษทางวินัย หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริตให้ถือว่าผู้บังคับบัญชานั้นกระทำผิดวินัย ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป คือ
ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กล่าวคือ (1) กรณีวินัยไม่ร้ายแรงเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาตามที่กฎหมายกำหนด (2) กรณีวินัยอย่างร้ายแรงเป็นอำนาจของ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามมาตรา 53, ผู้บังคับบัญชาเหนือผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ, รัฐมนตรีเจ้าสังกัด นายกรัฐมนตรี และประการสำคัญองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการสอบสวนต้องเป็นไปตามข้อ 3 วรรคสอง ของกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ.2550 สรุปคือ 1) ประธานกรรมการสอบสวนต้องดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะ ไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา 2) เป็นข้าราชการอย่างน้อย 3 คน 3) ในคณะกรรมการสอบสวนต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรหรือผู้ได้รับปริญญาทางกฎหมายหรือผู้ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรการดำเนินการทางวินัย หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการดำเนินการทางวินัยเป็นกรรมการสอบสวนอย่างน้อย 1 คน ซึ่งเมื่อ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่าง ร้ายแรงแล้ว เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนที่จะดำเนินการสอบสวนตามบทกฎหมายในอันที่จะพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาต่อไป แล้วพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้าค่ะ
ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
อัพเดทเรื่องราว - ข้อสอบใหม่ ๆ
เข้าห้องสอบออนไลน์ ( ฟรี)
เน็ตช้า ... คลิ๊กที่ http://tuewsob.blogspot.com
ห้องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
... ห้องติวสอบผู้บริหาร + การศึกษาพิเศษ + การศึกษานอกระบบ (กศน.)
ห้อง ... ครูวิชาเอก ห้อง 1 คลิ๊กที่ http://tuewsobkru.blogspot.com
ห้อง ... ครูวิชาเอก ห้อง 2 คลิ๊กที่ http://tuewsob2011.blogspot.com
ฟรี... ห้องติวสอบผู้บริหารสถานศึกษา-ครู-บุคลากรการศึกษา ที่
" ติวสอบดอทคอม " เขียน-สร้าง-บรรยาย โดย (ผอ.นิกร เพ็งลี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น